จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องแยกสาขาย่อยเป็นวิศวกรรมยานยนต์?
โดย : Admin
 

 

                 

             สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (Automotive Engineering) เป็นสาขาวิชาที่เน้นให้นิสิตมีความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์เป็นพิเศษ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตบุคลากรออกไปทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วน ในประเทศ     
 

  หากพิจารณาดู อาจแบ่งรถยนต์ออกเป็นส่วนหลักได้ดังนี้   
1. Power train:   อันได้แก่ เครื่องยนต์ซึ่งเป็นตัวต้นกำลังสำหรับผลิตงานกลจากการแปลงพลังงานรูปอื่น เช่น พลังงานเคมีในเชื้อเพลิง ระบบถ่ายทอดกำลังซึ่งอาจประกอบด้วย คลัตซ์ กระปุกเกียร์ และระบบเพลาที่ต่อไปสู่ล้อขับ
2. โครงและตัวถัง: ซึ่งใช้รับแรงที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการเสียรูปเกินขอบเขตที่กำหนด
3. ระบบรองรับ (Suspension system): สำหรับรองรับตัวรถบนล้อ ประกอบด้วย สปริงและตัวหน่วงเพื่อดูดซับความสั่นสะเทือนจากล้อในผ่านไปสู่ตัวถังน้อยที่สุด รวมทั้งควบคุมการโคลง หรือเอียงขณะเลี้ยวเพื่อให้รถมีเสถียรภาพในการขับขี่ดี แขนเต้นหรือปีกนกของระบบรองรับต้องไม่ทำให้ล้อเบี่ยงเบนไปจากสภาวะตั้งฉากกับถนนขณะรถโคลง หรือเอียง
4. ระบบบังคับทิศทาง: สำหรับให้รถมีเสถียรภาพในการวิ่งบนทางตรง และปรับเรขาคณิตของล้อขณะเลี้ยวให้ล้อใน และล้อนอกกลิ้งโดยมีการเลื่อนไถลน้อยที่สุด
5. ระบบห้ามล้อ: สำหรับเปลี่ยนพลังงานจลน์เป็นความร้อน เมื่อต้องการลดความเร็ว โดยจะต้องไม่ทำให้รถสูญเสียการทรงตัว และการบังคับทิศทาง
6. ระบบเสริมอื่นๆ: เช่น ระบบปรับสภาวะอากาศ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบถุงลมนิรภัย ฯลฯ


 

 

 

 

 

 

       



              จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า สำหรับงานวิเคราะห์ และสังเคราะห์เพื่อการออกแบบจะต้องอาศัยศาสตร์วิศวกรรมพื้นฐานหลักคือ กลศาสตร์ประยุกต์ทั้งของแข็งและของไหล (อย่าลืมว่ารถยนต์เคลื่อนที่ไปในอากาศ และเครื่องยนต์ใช้ของไหลเป็นสารทำงาน) เทอร์โมไดนามิกส์ และเคมีในการแปลงพลังงานอื่นๆ เป็นพลังงานกล รวมทั้งการควบคุมมลภาวะจากอุปกรณ์ต้นกำลังที่ใช้กระบวนการสันดาปเป็นกระบวนการแปลงพลังงาน การถ่ายเทความร้อน การหล่ออื่น การควบคุมอัตโนมัติ ซึ่งในปัจจุบันแนวโน้มมุ่งไปสู่การควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแม่นยำกว่าการควบคุมเชิงกลล้วนๆ มอเตอร์ไฟฟ้า และวงจรไฟฟ้ากำลัง

 

     วิศวกรรมยานยนต์ VS วิศวกรรมเครื่องกล
                    จากรายละเอียดของวิศวกรรมยานยนต์ จะเห็นได้ว่ารถยนต์นั้นประกอบด้วยอุปกรณ์กลจำนวนมาก ร่วมกับอุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวนหนึ่ง โดยอุปกรณ์ทั้งหมดมีแนวโน้มจะใช้ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์แบบไมโครโปรเซสเซอร์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก มองดูในแง่วิชาการ การสอนระดับปริญญาตรี จึงจำเป็นที่ต้องเริ่มที่วิชาพื้นฐาน คือ กลศาสตร์ของแข็ง ของไหล วัสดุ และจักรกล เทอร์โมไดนามิกส์ การถ่ายเทความร้อน ไฟฟ้ากำลัง วงจรอิเล็กทรอนิกส์ การควบคุมอัตโนมัติ และการออกแบบ ซึ่งก็เป็นวิชาพื้นฐานของวิศวกรรมเครื่องกลเช่นกัน ซึ่งเมื่อไปดูหลักสูตรมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ จะพบว่าในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นจะมีการสอนวิชาวิศวกรรมยานยนต์ในสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ดังนั้นความแตกต่างของสาขาวิชานี้จึงอยู่ที่วิชาเลือก และบังคับเลือก ซึ่งจะเน้นการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะ

 

 

ขอบคูณทุกแหล่งที่มาของข้อมูล

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://9engineer.com/)