การดูแลและบำรุงรักษาหม้อไอน้ำ ตอนที่ 1
โดย : Admin
 

การดูแลและบำรุงรักษาหม้อไอน้ำ ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก


    ข้อแนะนำที่จะปรากฏต่อไปนี้ในบทความจะเป็นแนวทางการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive maintenance) สำหรับหม้อไอน้ำที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ 

 บทนำ

        บทความนี้จะนำเสนอแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำ  อนึ่งผู้ที่จะทำงานเกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ประกอบด้วย กล่าวคือ

     * ได้รับการอบรมอย่างเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติงานกับหม้อไอน้ำ
     * มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหม้อไอน้ำเป็นอย่างดี
     * มีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ต่างๆ
     * มีความขยันหมั่นเพียรที่จะปฏิบัติงานให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี  

 


  1)  การทำงานกับหม้อไอน้ำ

    1.1) การดูแลรักษาหม้อไอน้ำ
 

1.
มีความรู้ที่ดีพอสำหรับหม้อไอน้ำและอุปกรณ์ประกอบอื่นๆที่ทำงานสนับสนุนหม้อไอน้ำ ควรขอ manual, drawing และข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆจากผู้ผลิต หรือผู้ติดตั้งเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้ในสถานที่ที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวกฝึกอบรมพนักงานให้มีความเข้าใจข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำและควรฝึกให้เปิด manual ทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานกับหม้อไอน้ำ
2.
บันทึกข้อมูลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอและควรจำแนกอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องการการบำรุงรักษาออกมาเป็นหัวข้ออาจจะเขียนใน Index card หรือเก็บไว้ในฐานข้อมูลของคอมพิวเตอร์ หรือกล่าวง่ายๆก็คือควรทำประวัติเครื่องจักรอย่างละเอียดนั่นเอง
3.
ควรสร้างแผนการดูแลแผนการบำรุงรักษาในแต่ละช่วงเวลาตั้งแต่ การบำรุงรักษารายวัน, สัปดาห์, เดือน, ครึ่งปี และ 1 ปี ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ควรจำแนกออกมาให้ชัดเจน
 
4.
ควรออกแบบ log sheet หรือ check sheet  ที่ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลการตรวจสอบหม้อไอน้ำและอุปกรณ์ประกอบในแต่ละช่วงเวลาตามที่ได้เขียนแผนเอาไว้แล้วว่าจะทำอะไรบ้าง อนึ่ง log sheet ที่จะออกแบบนี้จะต้องสื่อให้เห็นถึงข้อมูลที่สำคัญที่เกี่ยวกับการทำงานของหม้อไอน้ำหลังจากออกแบบ และนำไปใช้จริงแล้ว ควรปรับปรุงเรื่อยๆจนกระทั่งสามารถใช้งานได้ง่ายและสามารถเก็บบันทึกข้อมูลที่สำคัญๆได้ครบถ้วนตามที่ต้องการ
5.
ควรเขียน คู่มือการทำงาน (อาจจะเรียกว่า work instruction: WI) ต่างๆ ที่สำคัญสำหรับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำเช่นคู่มือการเริ่มทำงานสำหรับหม้อไอน้ำเป็นต้น คู่มือการทำงานที่ได้เขียนขึ้นทั้งหมดจะทำให้การทำงานเกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำของฝ่ายต่างๆ มีความเป็นมาตรฐานเดียวกันและช่วยให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์หรือไม่มีความรู้ในการทำงานกับหม้อไอน้ำสามารถอ่านทำความเข้าใจเพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
6.
การทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบหม้อไอน้ำจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอและอย่างเข้มแข็ง เพื่อทำให้การซ่อมบำรุงและการบำรุงรักษาหม้อไอน้ำเป็นไปด้วยดีและอย่างมีคุณภาพ
7.
ทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่าให้มีฝุ่นเกาะเพราะจะส่งผลต่อการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์นั้น ให้ทำงานผิดพลาดได้
8.
ต้องมั่นใจว่ามีอากาศสะอาดเพียงพอสำหรับห้องหม้อไอน้ำเพราะอากาศเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อไอน้ำตัวกรองอากาศต้องหมั่นดูแลทำความสะอาด ในฤดูฝนที่อากาศเย็นอาจจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องให้ความร้อน เพื่อทำให้อากาศมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้องปกติ (ประมาณ 30 .C)
9.
บันทึกข้อมูลการใช้เชื้อเพลิงอย่างรัดกุมซึ่งข้อมูลนี้จะแสดงให้เห็นอาการผิดปกติของหม้อไอน้ำได้เมื่ออัตราการใช้เชื้อเพลิงเปลี่ยนแปลงไปจากปกติทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
10.
ในขณะที่หม้อไอน้ำหยุดการทำงานหรืออยู่ในช่วงที่ไม่ได้ใช้งาน ควรปฏิบัติตามเทคนิควิธีที่ปลอดภัยดังต่อไปนี้คือปิดการเชื่อมต่อของแหล่งจ่ายพลังงานต่างๆ ที่เข้าสู่หม้อไอน้ำ และปิดสวิตช์ต่างๆไปยังตำแหน่ง off หากมีหม้อไอน้ำมากกว่าหนึ่งลูกที่ต่ออยู่กับ header ให้ปิดวาล์วทางเข้าของไอน้ำจากหม้อไอน้ำลูกนั้นๆอาจจะเพื่อทำการตรวจเช็คหรือเพื่อการซ่อมบำรุงก็ตาม ควรปิด damper ทางออกของแก๊สไอเสียทุกจุด และควรปฏิบัติตาม manual ของหม้อไอน้ำอย่างเคร่งครัด

 

   1.2)  ข้อมูลพื้นฐานที่ต้องบันทึก   

         
ข้อมูลพื้นฐานของหม้อไอน้ำที่ควรทำการบันทึกเพื่อสะดวกต่อการเรียกหาใช้งานและเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการออกแบบ Log sheet แบ่งออกกว้างๆ ได้ดังนี้

 1. Name plate
ของหม้อไอน้ำและอุปกรณ์ทุกตัวที่ทำงานร่วมกับหม้อไอน้ำรวมถึงข้อมูลดังต่อไปนี้คือ หมายเลขแสดงรุ่นของหม้อไอน้ำหรืออุปกรณ์ต่างๆ, serial number, ชนิดของเชื้อเพลิง, ความดันที่หม้อไอน้ำสามารถทำได้และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือกล่าวง่ายๆ ว่าเป็นข้อมูลจำเพาะของหม้อไอน้ำนั่นเอง

 2. 
ชื่อ ที่อยู่หมายเลขโทรศัพท์, โทรสารของผู้ผลิต จำหน่าย ติดตั้งหม้อไอน้ำและของผู้จำหน่ายอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งผู้จำหน่ายเชื้อเพลิงเพื่อสามารถจะสอบถามปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที
 
2. การดูแลรักษาหม้อไอน้ำ

 
  2.1 การบำรุงรักษาทุกวัน 
1.
เช็คระดับน้ำใน Gauge glass หากพบว่าระดับน้ำไม่คงที่สามารถจะเกิดจากปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น การปนเปื้อนของน้ำมัน, การทำงานเกินตัว (overload) , การทำงานผิดพลาดของระบบควบคุมการจ่ายน้ำเป็นต้น นอกเหนือจากเช็คระดับน้ำแล้ว จะต้องมั่นใจว่ามีน้ำอยู่ใน gauge glass ทุกครั้งที่ทำการตรวจเช็ค  
2.
ทำการ blow down หม้อไอน้ำโดยจะต้องเป็นไปตามคำแนะนำของที่ปรึกษาทางด้านระบบน้ำป้อน ทุกครั้งที่ทำการ blow down จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำและส่วนประกอบทางเคมีด้วย
3.
ตรวจสอบการเผาไหม้ด้วยสายตาโดยการดูลักษณะของเปลวไฟ หากลักษณะของเปลวไฟเปลี่ยนแปลงไปแสดงว่าต้องมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว จะต้องทำการสืบหาต้นเหตุของปัญหาต่อไป
 
4.
ปรับสภาพน้ำให้เป็นไปตามโปรแกรมที่ตั้งเอาไว้และต้องมีการสุ่มตรวจเช็คทุกวัน
5.
บันทึกความดันหรืออุณหภูมิของน้ำในหม้อไอน้ำ (อาจจะบันทึกมากกว่าหนึ่งครั้งในหนึ่งวัน)เพราะค่าทั้งสองหากเปลี่ยนแปลงไปจากปกติหรือค่าที่ตั้งเอาไว้แสดงว่าต้องเกิดความผิดปกติกับหม้อไอน้ำ
 
6.
บันทึกอุณหภูมิและความดันของน้ำป้อนหากอุณหภูมิและความดันมีค่าเปลี่ยนแปลงไปแสดงว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นในกระบวนการทำงาน เช่น ปั๊มน้ำป้อน เป็นต้น
7.
บันทึกอุณหภูมิของปล่องไอเสียหากอุณหภูมิของปล่องไอเสียเปลี่ยนแปลงไปแสดงว่าปล่องไอเสียมีเขม่าจับเยอะ, มีหินปูนเกาะภายในหม้อไอน้ำ, เกิดปัญหากับอิฐทนไฟหุ้มหม้อไอน้ำเป็นต้น
8.
บันทึกอุณหภูมิและความดันของน้ำมันเชื้อเพลิง (หม้อไอน้ำที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง)การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความดัน จะส่งผลต่อการเผาไหม้ โดยปัญหาอาจจะเกิดจาก oil heater หรือ oil regulator
9.
บันทึกความดันของ oil atomizer เพราะการเปลี่ยนแปลงของความดันจะส่งผลกระทบต่อการเผาไหม้ของหม้อไอน้ำ
10.
บันทึกค่าความดันของแก๊ส (หม้อไอน้ำที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง) การเปลี่ยนแปลงของความดันจะส่งผลต่อการเผาไหม้ โดยปัญหาอาจจะเกิดจากระบบการจ่ายแก๊ส
11.
เช็คการทำงานโดยทั่วๆไปของหม้อไอน้ำและระบบการเผาไหม้พยายามให้การทำงานอยู่ที่ระดับประสิทธิภาพสูงสุดอยู่เสมอ หากมีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไปจากปกติต้องตอบให้ได้ว่าเพราะอะไร และจะส่งผลต่ออะไรบ้าง
12.
บันทึกอุณหภูมิของไอน้ำที่ผลิตได้และน้ำที่กลับสู่หม้อไอน้ำเพื่อเป็นการเผ้าระวังการทำงานของหม้อไอน้ำ
13.
บันทึกปริมาณการเติมน้ำเข้าสู่หม้อไอน้ำหากปริมาณการเติมน้ำมากเกินไป แสดงว่าเกิดปัญหาขึ้นภายในระบบต้องรีบหาต้นตอของปัญหาและรีบแก้ไข
14.
เช็คการทำงานของอุปกรณ์เสริมต่างๆให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น (หมายถึงว่าจะต้องทำงานได้ตาม Spec ที่อุปกรณ์นั้นๆ ถูกตั้งค่าเอาไว้)เพราะการทำงานที่ผิดปกติของอุปกรณ์เสริมอื่นๆสามารถทำให้หม้อไอน้ำเกิดปัญหาขึ้นได้
  
2.2 การบำรุงรักษาทุกสัปดาห์
 
1. ตรวจสอบว่าวาล์วของท่อจ่ายเชื้อเพลิงแน่นสนิทดีหรือไม่ตรวจสอบเพื่อความมั่นใจว่าหากหม้อไอน้ำหยุดการใช้งานจะไม่มีเชื้อเพลิงรั่วไหลจากวาล์วได้
2. ตรวจสอบรอยต่อ หรือ หน้าแปลนที่ยึดท่อต่างๆ ให้มั่นใจได้ว่าสกรูขันแน่นสนิทดีไม่มีการรั่วไหลของเชื้อเพลิงหรืออากาศออกมาตามหน้าแปลนเหล่านั้น
3. ตรวจสอบการทำงานของไฟส่องสว่างฉุกเฉินและสัญญาณเตือนในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในห้องหม้อไอน้ำว่ายังทำงานปกติดีอยู่หรือไม่ ตรวจสอบไฟสัญญาณทุกหลอดและสัญญาณเตือนอื่นๆที่จะต้องทำงานสัมพันธ์กับหม้อไอน้ำว่ายังทำงานปกติดีอยู่หรือไม่
4. ตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ควบคุมว่ายังทำงานตามค่า set point ที่ได้ตั้งเอาไว้หรือไม่และควรทวนสอบการทำงานของเกจวัดความดันและอุณหภูมิของหม้อไอน้ำว่ายังแสดงค่าที่ถูกต้องอยู่หรือไม่
 

5.
ตรวจสอบอุปกรณ์ทางด้านความปลอดภัยและ Interlock เพื่อความแน่ใจได้ว่าหากเกิดเหตุผิดปกติกับหม้อไอน้ำ อุปกรณ์ทางด้านความปลอดภัยและ interlock จะยังทำงานได้ตามปกติ
6.
ตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ควบคุมระดับน้ำ
7.
ตรวจสอบการรั่ว, เสียงดัง, การสั่นสะเทือน และ การทำงานอื่นๆ ที่ผิดไปจากปกติ เป็นต้น เนื่องจากหากทำการตรวจสอบเป็นประจำแล้วจะทราบได้ทันทีว่าหม้อไอน้ำทำงานผิดปกติ ซึ่งจะได้รีบดำเนินการแก้ไขต่อไป ก่อนที่จะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โต
8.
ตรวจสอบการทำงานของมอเตอร์ขับทุกตัวที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำ เช่น ฟังเสียง ตรวจเช็คอุณหภูมิของมอเตอร์ ดูการสั่นสะเทือน หากผิดปกติจะต้องรีบดำเนินการแก้ไข
9.
ตรวจสอบระดับของน้ำมันหล่อลื่นของอุปกรณ์ทุกตัวตามที่คู่มือกำหนดเอาไว้ ว่ายังมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับการใช้งานหรือไม่
10.
ตรวจสอบ gauge glass เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีรอยแตกร้าวขึ้น และต้องไม่มีรอยรั่วโดยรอบ


โปรดติดตามตอนที่ 2

 


 ขอขอบทุกๆแหล่งที่มาของข้อมูล

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://9engineer.com/)