Energy Storage System
โดย : Admin

 “ระบบกักเก็บพลังงาน” กุญแจปลดล็อคสู่ความมั่นคงของพลังงานแห่งอนาคต



ชมคลิป VDO ที่เกี่ยวข้อง :



ปัจจุบันเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “พลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy) เป็นพลังงานแห่งอนาคตที่ทั่วโลกล้วนหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถพึ่งพาได้อย่างมั่นคง แต่ด้วยเหตุผลที่ว่า ณ.ปัจจุบัน ไฟฟ้าที่ได้จากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน อย่างเช่น แสงอาทิตย์ ลม ยังมีความผันผวนและขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่สามารถควบคุมได้    ดังนั้น“ระบบกักเก็บพลังงาน” (Energy Storage System) จึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยในการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ให้สามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยลดความผันผวนของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนให้มีความเสถียรมากขึ้น และยังเปรียบเสมือน Power Bank พลังงานสำรอง เข้าเสริมระบบเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น





การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานหมุนเวียนกับเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานมาบูรณาการให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของโลกในอนาคต
 



กฟผ. จึงมุ่งพัฒนา และสรรหานวัตกรรมกักเก็บพลังงานที่เหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย ดังนี้

1. ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) เป็นการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า โดยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานเพื่อลดปัญหาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ ให้มีความผันผวนของกระแสไฟฟ้าน้อยลงและสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มั่นคงยิ่งขึ้นอีกทั้ง รองรับการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอนาคต โดยมีโครงการนำร่อง 2 แห่ง และกำหนดเริ่มใช้งานในเดือนกรกฎาคม 2563 คือ

         - สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ กำลังผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ชั่วโมง

         - สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี กำลังผลิตติดตั้ง 21 เมกะวัตต์ชั่วโมง

 


 

2. โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped-Storage) เป็นระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารูปแบบหนึ่งที่มีต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าต่ำที่สุด และสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้ เนื่องจากส่งเสริมให้เกิดการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีความไม่แน่นอนมาผลิตไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น โดยจะนำกระแสไฟฟ้าจากระบบการผลิตของประเทศในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย คือ ช่วงหลังเที่ยงคืนจนถึงเช้ามาใช้สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม ขึ้นไปเก็บพักไว้ในอ่างพักน้ำตอนบนที่สร้างขึ้นใหม่ แล้วปล่อยน้ำลงมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในแต่ละวัน ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวนทั้งหมด 3 แห่ง กำลังผลิตรวม 1,031 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย

         - โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 4 และ 5 จ.กาญจนบุรี กำลังผลิตรวม 360 เมกะวัตต์

         - โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพล เครื่องที่ 8 จ.ตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์

         - โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เครื่องที่ 1 - 4 จ.นครราชสีมา กำลังผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์

 


 

3. ระบบกักเก็บพลังงานด้วยเซลล์เชื้อเพลิงร่วมกับพลังงานลม (Wind Hydrogen Hybrid System) นับเป็นเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ที่ กฟผ. นำนวัตกรรมชิ้นนี้มาใช้เป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย เป็นการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบก๊าซไฮโดรเจน เมื่อกังหันลมผลิตไฟฟ้าได้มากเกินความต้องการของระบบ ไฟฟ้าจะถูกนำไปจ่ายให้กับเครื่อง Electrolyser หรือเครื่องแยกน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งจะทำหน้าที่แยกน้ำ (H2O) ที่อยู่ที่เครื่อง Electrolyser ออกเป็นก๊าซออกซิเจน (O2) และก๊าซไฮโดรเจน (H2) โดยที่ก๊าซไฮโดรเจนจะถูกนำไปกักเก็บในถังบรรจุก๊าซไฮโดรเจน ก่อนนำก๊าซไฮโดรเจนมาผลิตไฟฟ้าโดยผ่านเซลล์เชื้อเพลิง (Hydrogen Fuel Cell) เพื่อจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง โดยส่วนมากแล้ว กังหันลมมักจะผลิตไฟฟ้าได้มากในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าต่ำ จึงนำพลังงานที่ผลิตได้นี้มาเก็บไว้ โดยมีโครงการนำร่องที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ. นครราชสีมา เพื่อจ่ายไฟให้กับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง

 


 

การพัฒนา “ระบบกักเก็บพลังงาน” ให้มีประสิทธิภาพ สร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน นับเป็นกุญแจสำคัญที่จะสนับสนุนและลดข้อจำกัดของการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีอย่างแพร่หลาย รวมถึงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้มีความมั่นคง สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างประสิทธิภาพไม่เกิดปัญหาไฟตก ดับ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของ กฟผ. ที่มุ่งพัฒนาระบบการผลิตและระบบส่งไฟฟ้า ให้ก้าวสู่ระบบไฟฟ้า

 

 

Ref:
https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3275:2020106-01&catid=49&Itemid=251
https://www.gpscgroup.com/en/news/985/energy-storage-system-1

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://9engineer.com/)