วิศวกรอาเซียนและวิศวกรเอเปค (1)
โดย : Admin

 

 

 

ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และอดีตกรรมการสภาวิศวกร 2 สมัย

 

 

                เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าหมู่ประเทศอาเซียนจะต้องเปิดประตูการค้าและบริการให้แก่กันและกันตามข้อตกลงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า  อาชีพวิศวกรรมก็เป็นงานบริการส่วนหนึ่งที่แต่ละประเทศต้องเปิดให้ส่งวิศวกรชาติ หนึ่งเข้าไปทำงานในอีกประเทศหนึ่งได้อย่างเสรีกว่าเดิม  ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีผลกระทบไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งไม่ว่าจะไปในทางบวกหรือ ลบก็ตาม
วิศวกร APEC กับ ACPE



                ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียดเราต้องทำความรู้จักกับคำศัพท์ก่อนสองคำ นั่นคือ APEC และ ACPE สำหรับ APEC หรือ Asia-Pacific Economic Cooperation นั้นเป็นความพยายามที่จะให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอ เซีย-แปซิฟิก  ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการอนุญาตให้วิศวกรในประเทศภาคีหนึ่งเข้าไปทำงานวิศวกรรม ในอีกประเทศภาคีได้ วิศวกรประเภทนี้เราเรียกว่า‘วิศวกรเอเปค’ ซึ่งปัจจุบันได้มีการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการไว้แล้วที่สภาวิศวกรจำนวน หลายร้อยคน พร้อมที่จะออกไปปฏิบัติงานได้  ทั้งนี้โดยสภาวิศวกรเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะ สมก่อนที่จะให้ใบอนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรเอเปค



                ปัญหาคือ ความพยายามในการดำเนินงานให้เกิดความร่วมมือของ APEC นี้ยังเป็นแค่ความพยายาม  ยังไปไม่ถึงขั้นการลงนามข้อตกลงผูกพันระหว่างกันและกัน วิศวกรเอเปคที่ได้ ขึ้นทะเบียนไว้แล้วจึงเป็นวิศวกรเอเปคแต่เพียงในนาม(ซึ่งอาจฟังดูโก้)  แต่ยังไม่สามารถออกไปปฏิบัติงานข้ามประเทศได้จริง ระบบวิศวกรเอเปคจึงไม่มีผลใดๆ ต่อประเทศภาคีใดๆ ในภาวะปัจจุบัน

                วิศวกรข้ามชาติอีกประเภทหนึ่งเป็นกรณี ส่งวิศวกรต่างด้าวเข้าไปทำงานเฉพาะในประเทศในหมู่อาเซียนด้วยกันตามข้อตกลง ของ AEC  วิศวกรประเภทนี้เราเรียกว่า ACPE ซึ่งย่อมาจาก Asean Chartered Professional Engineer หรือ‘วิศวกรวิชาชีพตามกฎบัตรอาเซียน’  หรือเรียกกันสั้นๆว่า‘วิศวกรอาเซียน’ วิศวกร ประเภทหลังนี้สามารถเดินทางไปประกอบวิชาชีพวิศวกรรมได้อย่างเป็นทางการใน หมู่ภาคีประเทศอาเซียน  เพราะได้มีการลงนามในข้อตกลงกันแล้วอย่างเป็นทางการ   สำหรับประเทศไทยได้มีการลงนามตั้งแต่สมัย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ACPE

                ACPE หรือวิศวกรอาเซียนสามารถเดินทางเข้าไปทำงานวิศวกรรมในประเทศภาคีได้  กล่าวคือ วิศวกรไทยไปมาเลเซียได้  วิศวกรมาเลเซียไปบรูไนได้  วิศวกรบรูไนไปอินโดนีเซียได้  วิศวกรอินโดนีเซียไปพม่าได้   ดังนั้นวิศวกรพม่าและเขมรก็ต้องมาทำงานวิชาชีพทางวิศวกรรมในประเทศไทยได้ เช่นกัน  คือมีทั้งการส่งออกและนำเข้างานบริการทางวิศวกรรมของทุกประเทศภาคี



                แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าวิศวกรต่างด้าวเหล่านี้มีความรู้และประสบการณ์มากพอ  หากเป็นวิศวกรจากเขมรหรือลาวมา ทำงานในไทยเราจะเชื่อในความสามารถของเขาได้หรือไม่อย่างไร และหากเป็นวิศวกร มาเลเซียหรือสิงคโปร์ความเชื่อใจนั้นจะมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไรหรือไม่

                เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าวิศวกร ต่างชาติที่จะมาทำงานในประเทศเรานั้นมีความสามารถมากพอหรือไม่  ซึ่งต่างประเทศเขาก็ต้องคิดเช่นนั้นกับวิศวกรไทยเช่นกัน ประเทศภาคีอาเซียน จึงได้จัดให้มีการเตรียมการแบบยอมรับซึ่งกันและกัน  ในรูปแบบที่เรียกว่า Mutual Recognition Arrangement หรือ MRA  (โปรดสังเกตว่าไม่ใช่‘ข้อตกลง’หรือ Agreement ที่ฝ่ายทางการไทยยังแปลและนำมาใช้อย่างผิดๆ อยู่) โดยให้แต่ละประเทศภาคีจัดให้มีหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติของวิศวกรของ ตัวเองว่าใช้การได้ดีก่อนส่งออกนอกประเทศ เพื่อที่จะไปขออนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นทางการอีกครั้งจากคณะกรรมการ ACPE ร่วมของทุกประเทศ(เรียกว่า ACPECC หรือ ACPE Coordinating Committee)  โดยคาดหวังว่าต่างคนต่างจะทำหน้าที่เข้มงวดในการคัดกรอง  ไม่ปล่อยให้วิศวกรที่ด้อยคุณภาพสามารถขึ้นทะเบียนวิศวกรอาเซียนได้ เพราะหาก เป็นเช่นนั้นระบบทั้งหมดก็จะพังทลายสิ้นทันที

                สำหรับประเทศไทย  สภาวิศวกรซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลการปฏิบัติวิชาชีพของวิศวกรทุกคนในประเทศ  เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ทำหน้าที่คัดกรองนี้  ทั้งนี้  มีข้อสังเกตอันเป็นที่น่าแปลกใจว่าประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนวิศวกรเอเปค (ซึ่งไม่มีผลทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ) อยู่หลายร้อยคน  แต่กลับยังไม่มีการขึ้นทะเบียนวิศวกรอาเซียนแม้แต่คนเดียวทั้งๆ ที่ขณะนี้มีข้อผูกพันกันและกันตามข้อตกลง AEC แล้ว  ใน ขณะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ มีการขึ้นทะเบียนวิศวกรอาเซียนแล้วหลายร้อยคนในแต่ละประเทศ  เรียกว่าพร้อมบุกไทยแล้วหากกฎระเบียบอื่นๆ ในไทยเรียบร้อย  ซึ่งจากข้อตกลง AEC  ทุกประเทศมีภารกิจที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้ส่งวิศวกรข้ามประเทศ (คือเข้ามาในไทยด้วย) ให้ได้เร็วที่สุด  ปัจจุบันสภาวิศวกรได้จัดทำร่างระเบียบว่าด้วยการออกใบอนุญาตวิศวกรอาเซียน ของไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว  คาดว่าจะขึ้นทะเบียนออกใบอนุญาตวิศวกรอาเซียนของไทยได้เรือนพันภายในครึ่งปี หน้า  เพื่อเตรียมพร้อมส่งวิศวกรไทยออกไปบุกไปในประเทศภาคีอาเซียนเช่นกัน

จำนวนวิศวกรวิชาชีพอาเซียนที่ได้รับการรับรองจาก ACPECC แล้ว ในประเทศต่างๆ ณ พ.ย. 2556

วิศวกร AEC

 

พาสปอร์ตกับวีซ่าในบริบทวิศวกรต่างด้าว

                ในการเดินทางไปต่างประเทศ  ทุกคนต้องมีหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่คัดกรองคนของตัวเอง (หรือคนไทยในกรณีของประเทศไทย)ว่ามีคุณสมบัติดีพอที่เมื่อไปยังประเทศคนอื่น แล้ว จะไม่ไปทำให้ประเทศอื่นนั้นเสียหายไม่ว่าเรื่องใดๆ  พูดง่ายๆ คือกระทรวงการต่างประเทศแต่ละประเทศมีหน้าที่การันตีคนของประเทศตนเองนั่น เอง


                ใบขึ้นทะเบียนหรือใบอนุญาตเป็น วิศวกรอาเซียนก็เปรียบเสมือนเป็นพาสปอร์ตพิเศษอีกใบสำหรับวิศวกรที่ต้องการ เดินทางไปทำงานวิชาชีพในต่างประเทศ  และสภาวิศวกร(ไทย) ทำหน้าที่เสมือนเป็นกระทรวงการต่างประเทศ (ของไทย)    ดังนั้นหากวิศวกรไทยต้องการไปทำงานต่างประเทศก็จำต้องมีพาสปอร์ตปกติหนึ่ง เล่มและพาสปอร์ตพิเศษ (ใบอนุญาตวิศวกรอาเซียน) อีกหนึ่งเล่ม  จึงจะเดินทางได้


                แต่การมีพาสปอร์ตแล้วก็ไม่ได้หมายความ ว่าจะเข้าประเทศอื่นได้โดยอัตโนมัติถ้าเขาไม่ให้เข้า หลักปฏิบัติทั่วไปคือ ประเทศเจ้าของบ้านจะขอตรวจดูเอกสารอีกครั้ง รวมทั้งฐานะทางการเงินและอื่นๆ ของแต่ละคนก่อนที่จะตัดสินว่าจะยินยอมให้เข้าประเทศหรือไม่  ซึ่งเอกสารนี้ก็คือวีซ่านั่นเอง



                ในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมอาเซียนก็ เช่นกัน  นอกจากจะมีใบอนุญาตวิศวกรอาเซียนแล้ว วิศวกรแต่ละคนยังจำต้องมีวีซ่าพิเศษ อีกฉบับออกโดยประเทศเจ้าของบ้าน (Host Country)ที่เราจะเข้าไปทำงาน เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์  จึงจะเข้าไปปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมในประเทศเจ้าของบ้านนั้นๆ ได้ วีซ่าพิเศษนี้เรียกว่า RFPEหรือ Registered Foreign Professional Engineer  หรือ ‘วิศวกรวิชาชีพต่างด้าวขึ้นทะเบียน’  ซึ่งสภาวิศวกร (ไทย) อีกเช่นกันที่จะเป็นหน่วยงานออกวีซ่าพิเศษหรือ RFPE ให้กับวิศวกรต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในไทย  หากวิศวกรผู้หนึ่งต้องการไปทำงานในหลายประเทศก็ต้องขอเป็น RFPE ในประเทศนั้นๆ ทุกประเทศโดยใช้ใบอนุญาตวิศวกรอาเซียน ACPE ของตนเพียงใบเดียว

                เมื่อมีเอกสารทั้งหมดสองชิ้นนี้แล้ว  วิศวกรหรือบริษัท‘ท้องถิ่น’ที่เราจะไปทำงานด้วยจึงจะสามารถเดินเรื่องไปที่กระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์ (หากต้องการไปเปิดบริษัทและทำธุรกิจที่ประเทศนั้นๆ)ต่อไป
สรุปคือ  วิศวกรอาเซียนหากประสงค์จะไปทำงานในประเทศภาคีอาเซียน  ต้องมีเอกสาร 4 ชิ้น คือ หนังสือเดินทาง (ปกติ)  ใบอนุญาตวิศวกรอาเซียน(รับรองโดยประเทศต้นทาง และออกโดยกรรมการประสานงาน ACPECC)  วีซ่าปกติ (ยกเว้นบางประเทศที่ยอมให้เข้าได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า)  และวีซ่าพิเศษหรือใบอนุญาต RFPE (ซึ่งต้องขอและได้รับจากประเทศปลายทางก่อนเดินทางไปปฏิบัติงานวิชาชีพวิศวกรรมในประเทศปลายทางนั้นๆ)



ความรับผิดชอบของวิศวกรต่างด้าว RFPE

                ตามกฎหมายแล้วไม่ว่าในประเทศใด  วิศวกรวิชาชีพเมื่อออกแบบและลงนามในแบบแปลน  ถือได้ว่าวิศวกรผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบเต็มตัว(ที่บางคนกล่าวว่าขาข้าง หนึ่งไปอยู่ในตะรางแล้ว)  เช่น  หากมีการก่อสร้างและ ตึกพัง มีผู้เสียชีวิตหรือทรัพย์สินเสียหาย  วิศวกรผู้นั้นต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับแพทย์ที่เมื่อรักษาคนไข้และคนไข้เสียชีวิต แพทย์ผู้นั้นก็ต้องรับผิดชอบเช่นกัน ซึ่งหากจะไม่ต้องรับโทษก็ต้องมีการ พิสูจน์ว่ามิใช่เป็นความผิดของตน
หากวิศวกรหรือแพทย์ผู้นั้นเป็นวิศวกรไทยหรือนายแพทย์ไทย ที่ปฏิบัติงานและมีที่พักเป็นหลักแหล่งอยู่ในไทย การติดตามตัวมาให้รับผิด ชอบก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก แต่หากเป็นวิศวกรต่างด้าว RFPE ที่สามารถกลับไปประเทศของตนเมื่อไรก็ได้  ในกรณีเช่นนี้เราจะติดตามตัวมาให้แสดงความรับผิดชอบได้อย่างไร


                ทุกประเทศที่ลงนามในข้อตกลงอนุญาตให้นำ เข้าวิศวกรต่างด้าวมาทำงานในประเทศตน ต่างเห็นปัญหานี้  จึงได้ร่วมกันกำหนดให้วิศวกรต่างด้าว RFPE ไม่สามารถปฏิบัติวิชาชีพเป็นอิสระได้ด้วยตนเอง แต่จะต้องให้วิศวกรท้องถิ่นหรือ วิศวกรของประเทศเจ้าบ้าน (Host) เป็นผู้รับรองเสียก่อน วิศวกรอาเซียนที่มีใบอนุญาต ACPE ผู้นั้นจึงจะสามารถไปขอขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรต่างด้าว RFPE ได้  แต่ทั้งนี้วิศวกรต่างด้าว RFPE ไม่สามารถลงนามเป็นผู้รับผิดชอบในแบบแปลนที่ต้องยื่นอย่างเป็นทางการต่อทาง การได้ ด้วยอุปสรรคและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาในภายหลังได้ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ข้างต้น  รวมทั้งจะต้องทำงานแบบมีวิศวกรท้องถิ่นร่วมทำงานประกบอยู่ด้วยเสมอ

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://9engineer.com/)