20 คำถามเรื่องไฟฟ้าที่คุณอยากรู้
โดย : Admin

20 คำถามเรื่องไฟฟ้าที่คุณอยากรู้ - สาระน่ารู้ เพื่อที่อยู่อาศัย


 

ในชีวิตประจำวันของคนเรา ส่วนใหญ่ต้องใช้ไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการดำเนินชีวิต แต่มีคนจำนวนไม่มากนักที่จะให้ความสนใจเรื่องไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ภายในบ้าน เพราะเมื่อพูดถึงไฟฟ้าแล้ว เรามักรู้สึกว่าเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนและอันตราย ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความชำนาญเท่านั้นจึงจะหยิบจับหรือทำได้

หาก เรามีความเข้าใจเพียงพอ มีความระมัดระวัง และรู้จักการทำงานที่ปลอดภัยแล้ว มือสมัครเล่นอย่างเราๆก็สามารถซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสวิตช์ ปลั๊ก หลอดไฟ หรือแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ซึ่งช่วยประหยัดเงินและเวลาในการหาช่างมาซ่อมแซมด้วย ฉบับนี้คอลัมน์ "ช่างในบ้าน" รวบรวมคำถามเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้าในบ้านที่อาจค้างคาใจใครหลายคนมาตอบครับ

 

1. Q: มิเตอร์ไฟบ้านมีขนาด 5 แอมแปร์ เปิดเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่องพร้อมกันได้หรือไม่

A: ไม่ได้ เนื่องจากมิเตอร์ไฟมีขนาดเล็กเกินไป (ไฟฟ้าอาจดับทั้งบ้านหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้) ปกติมิเตอร์ไฟในบ้านทั่วไปที่การไฟฟ้ามาติดตั้งให้จะกำหนดขนาดการใช้กระแสไฟ ไว้ประมาณ 5 แอมแปร์ (5A) และจะเผื่อการใช้งานไว้อีกประมาณสามเท่า แต่เครื่องปรับอากาศที่เจ้าของบ้านซื้อมาเพิ่มเติมภายหลังจะใช้กระแสไฟฟ้า มากเกิน 15 แอมแปร์ที่เผื่อไว้ ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ 2 เครื่องพร้อมกันเป็นประจำ ให้ติดต่อที่การไฟฟ้าในเขตพื้นที่ของท่าน เพื่อแจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนมิเตอร์ไฟเป็นขนาด 15 แอมแปร์จะปลอดภัยกว่า แต่เจ้าของบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง

 

2. Q: สายไฟฟ้ามีวันหมดอายุไหม

A: ฉนวนหรือเปลือกชั้นนอกที่ใช้หุ้มสายไฟฟ้า ปัจจุบันทำจากพีวีซี ซึ่งมีความแข็งแรงและมีอายุการใช้งานยาวนาน ปกติถ้าเราไม่ใช้กระแสไฟมากเกินกว่าขนาดของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ หรือหนูไม่มากัดแทะสายไฟ สายไฟที่ได้มาตรฐานจะมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า15-20 ปี แต่ถ้าปล่อยให้ถูกกระแทก ตากแดดตากฝน หรือโดนรังสียูวีเล่นงานเป็นประจำ สายไฟจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน10 ปี แต่ถ้าเดินสายไฟแบบร้อยท่อก็พอช่วยยืดอายุการใช้งานของสายไฟได้นานถึง 30 ปีทีเดียว

 

3. Q: ระหว่างเครื่องทำน้ำร้อนที่ใช้ไฟฟ้ากับเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ อะไรถูกกว่ากัน

A: เครื่องทำน้ำร้อนที่ใช้ไฟฟ้า ตัวเครื่องมีราคาถูกกว่า (เฉลี่ยหลักหมื่นต้นๆ) ขึ้นอยู่กับขนาดความจุของถังเก็บน้ำร้อน ติดตั้งและดูแลรักษาง่ายกว่า แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าไฟฟ้าตามมา   ส่วนเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ตัวเครื่องมีราคาสูงกว่า (เริ่มต้นประมาณ 50,000 บาท) การติดตั้งและการบำรุงรักษาจะยุ่งยากกว่า เพราะส่วนใหญ่จะติดตั้งไว้บนหลังคา แต่คุ้มค่ากว่าในระยะยาว โดยลงทุนครั้งแรกเพียงครั้งเดียว แต่ได้พลังงานสะอาดและไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าตลอดชีพ เหมาะกับบ้านหรือที่พักอาศัยที่มีห้องน้ำตั้งแต่ 2 ห้องขึ้นไปและใช้งานเป็นประจำ สำหรับระยะเวลาคุ้มทุนประมาณ 5 ปีขึ้นไป

 

4. Q: เมื่อเลิกใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นแล้ว ต้องปิดตรงไหนบ้างมีหลายปุ่มเหลือเกิน

A: จริงๆแล้วถ้าจะปิดให้กดปุ่ม Off ที่ตัวเครื่องก็พอ ไม่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ถ้าติดตั้งตามที่ผู้ผลิตแนะนำ* แต่จะยังคงมีกระแสไฟเข้าไปเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะให้ประหยัดจริงๆ ต้องสับสวิตช์เบรกเกอร์ ในกรณีบ้านใหม่ที่ไม่มีเบรกเกอร์อยู่ใกล้ๆกับเครื่องก็ให้กดปุ่ม Test ที่ข้างๆเครื่อง ปุ่มนี้จะตัดไฟไม่ให้เข้าไปในเครื่อง เมื่อต้องใช้ใหม่ให้กดปุ่ม Reset ครับ
*ติดตั้งสายดิน

 

5. Q: ไฟดูดเราได้อย่างไร ทำไมเราจึงติดจนแยกไม่ออก

A: จริงๆไฟฟ้าไม่ได้ดูดเราไปติด แต่กระแสไฟฟ้าที่เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากๆจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง จนเราไม่สามารถควบคุมสั่งการตัวเองให้แยกออกมาได้ ตัวอย่างเช่น ถ้ามือกำสายไฟอยู่ก็จะแบมือไม่ออก และในที่สุดก็...

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง => อันตรายของกระแสไฟฟ้าต่อร่างกายมนุษย์

 

6. Q: สวิตช์สามทางคืออะไร

A: คือสวิตช์ที่ใช้ควบคุมดวงไฟจากจุดที่ควบคุม 2 แห่ง มีรูปร่างหน้าตาเหมือนสวิตช์ทั่วไป การใช้งานจะใช้สวิตช์ 2 ตัว เพื่อเปิดปิดหลอดไฟเพียงจุดเดียว โดยเฉพาะแสงสว่างที่บริเวณบันได (บางท่านจึงเรียกว่า "สวิตช์บันได") สำหรับบ้านสองชั้นจะติดตั้งสวิตช์ไว้ที่ชั้นล่างหนึ่งตัว และชั้นบนอีกหนึ่งตัว สามารถเปิดปิดจากสวิตช์ตัวไหนก็ได้ เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน โดยเฉพาะการขึ้นลงบันไดในยามค่ำคืน


  ชมคลิป วิธีการต่อสวิตซ์สามทาง

 

7. Q: เราสามารถเสียบต่อปลั๊กพ่วงได้มากน้อยเพียงใด

A: ปลั๊กพ่วงแต่ละรุ่นมีขีดความสามารถในการทนต่อกระแสไฟฟ้าไม่เท่ากัน โดยจะเขียนติดไว้กับตัวปลั๊กเลย เช่น 10 แอมแปร์ ก็แสดงว่าไม่ควรต่อไฟเกิน 10 แอมแปร์ ถ้าใช้มากกว่านี้ฟิวส์จะขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความร้อนสูงจนไฟไหม้ ไม่แนะนำให้ใช้ปลั๊กพ่วงแบบไม่มีฟิวส์และสวิตช์เปิดปิดเด็ดขาด โดยเฉพาะแบบเก่า (ลักษณะกลมๆ) ที่ม้วนเก็บสายได้ เพราะนอกจากไม่มีฟิวส์แล้ว เต้ารับยังหลวมเป็นอันตรายมาก อีกอย่างที่ไม่ควรทำคือนำปลั๊กอื่นมาพ่วงต่อจากปลั๊กพ่วงอีกที...อย่าทำนะ ครับ

 

8. Q: ระบบควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าและแสงสว่างในบ้านอัตโนมัติ (Automation Home) ต้องใช้งบประมาณเท่าไรจึงติดตั้งได้

A: เริ่มต้นประมาณ 50,000 บาท สำหรับคอนโดมิเนียมหรือบ้านขนาด 1-2 ห้องนอน สามารถสั่งเปิดปิดไฟ หรี่ไฟ ม่านปรับแสง เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศและช่วยอำนวยความสะดวกสบาย และหากเพิ่มงบประมาณอีกหน่อยก็สามารถเชื่อมต่อกับระบบสัญญาณกันขโมย แต่ถ้ามีงบประมาณมาก เราสามารถทำบ้านธรรมดาๆให้กลายเป็นบ้านอัจฉริยะได้ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ เสริมต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระบบอื่นๆ อาทิ สามารถสั่งงานผ่านทางโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ภายในบ้าน หรือเข้าไปตรวจสอบการทำงานของระบบป้องกันภัย รวมทั้งเลือกดูภาพต่างๆได้จากทุกแห่งในโลกที่คุณไปผ่านระบบกล้อง
วงจรปิดได้ด้วย แบบนี้ราคาอยู่ที่หลักหลายแสนบาท

 

9. Q: ไฟเลี้ยงวงจรของโทรทัศน์ เครื่องเสียง หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ กินไฟหรือไม่

A: กินไฟทั้งนั้นแต่ว่าน้อยมากๆในความรู้สึกของผู้ใช้ (เสียค่าไฟเพิ่มขึ้นแลกกับความสะดวกสบายในการใช้งาน) แต่อย่าลืมว่า แม้เราจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆด้วยรีโมทคอนโทรลแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีไฟเลี้ยงวงจรอยู่ตลอดเวลา จึงมีส่วนทำให้อุปกรณ์ต่างๆภายในเกิดการชำรุดเสียหายได้ ดังนั้นเพื่อความประหยัดทั้งพลังงานและเงินในกระเป๋าสตางค์ของท่าน ให้ปิดโทรทัศน์ที่ปุ่มเปิดปิดของตัวเครื่อง และให้ถอดปลั๊กไฟออกหรือปิดสวิตช์ไฟแสดงสถานะของสายต่อพ่วงทุกครั้งที่เลิก ใช้งาน หากเราทุกคนลดการใช้พลังงานนี้ได้ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานรวม กันได้นับร้อยล้านบาทต่อปี

 

10. Q: มีสายล่อฟ้าแล้ว...เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนองต้องทำอย่างไรกับโทรทัศน์อีกหรือไม่

A: การมีอุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่าแล้ว ไม่ได้หมายความว่าโทรทัศน์จะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ หากเรายังเปิดโทรทัศน์อยู่หรือปิดโทรทัศน์แล้วแต่ยังไม่ได้ถอดปลั๊กออก เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูงเมื่อมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากได้รับแรงดันและกระแสไฟเกินอย่างกะทันหัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของท่านเอง ขณะที่มีฝนฟ้าคะนองให้ปิดโทรทัศน์ และถอดปลั๊กไฟออกจากเต้ารับที่ผนังหรือปลั๊กพ่วง และถอดสายอากาศออกจากตัวเครื่องทุกครั้ง เพื่อป้องกันโทรทัศน์ได้รับความเสียหาย รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์แบบไร้สาย เป็นต้น

 

11. Q: โวลท์,แอมป์,วัตต์ คืออะไร

A: โวลท์ (volt หรือ V) คือ หน่วยที่ใช้เรียกเพื่อบอกขนาดของแรงดันไฟฟ้าในบ้าน อาทิ 220 V หมายถึง ขนาดของแรงดันไฟฟ้าเท่ากับ 220 โวลท์ (ประเทศไทยก็ใช้ไฟระบบนี้)

แอมแปร์หรือแอมป์ (ampere หรือ A) คือ หน่วยที่ใช้เรียกสำหรับบอกปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านตัวนำ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้านั่นเอง อาทิ 5 A หมายถึง ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านเท่ากับ 5 แอมแปร์

วัตต์ (watt หรือ W) คือ หน่วยวัดกำลังไฟฟ้าที่เป็นตัวบอกพลังงานไฟฟ้าของอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ละชนิดใช้ในการทำงาน เช่น หลอดไฟ 100 วัตต์ หมายความว่า หลอดไฟดวงนี้กินไฟ 100 วัตต์ต่อชั่วโมงนั่นเอง

ชมคลิปเรือง ทำไมเครื่องกำเนิดไฟฟ้และหม้อแปลงจึงบอกพิกัดเป็น KVA

 

 

12. Q: มีสายดินแล้ว...ต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วอีกหรือไม่

A: สายดินเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องมีไว้ป้องกันไฟดูด เพื่อให้กระแสไฟที่รั่วไหลลงดินได้สะดวก โดยไม่ผ่านร่างกายเรา (ไฟไม่ดูด) ส่วนเครื่องตัดไฟรั่วมีหน้าที่ตัดกระแสไฟรั่วก่อนที่จะเป็นอันตรายกับมนุษย์ (ไฟดูด) และช่วยป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร จนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ดังนั้นระบบไฟฟ้าที่ดี จึงควรมีทั้งระบบสายดินและเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อเสริมการทำงานซึ่งกันและกันให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

13. Q: มีหลอดฟูลออเรสเซนต์ที่ไม่ใช้แบลลัสต์และสตาร์ตเตอร์ไหม
A: มีครับ แต่ผู้ผลิตจะจำหน่ายในรูปแบบของชุดหลอดไฟสำเร็จรูป มีให้เลือกใช้ทั้งแบบหลอดผอมและหลอดกลม ทำงานด้วยชุดวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้หลอดไฟมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เปิดปุ๊บสว่างปั๊บและหลอดไม่กะพริบ กินไฟน้อย ช่วยประหยัดไฟประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีราคาสูงกว่าชุดรางสำเร็จรูปทั่วไป

 

14. Q: Day Light , Warm White และCool White คืออะไร

A: ปัจจุบันหลอดไฟแสงสว่างส่วนใหญ่ที่ผลิตออกมาจำหน่ายมี 3 โทนสีด้วยกัน ได้แก่ Day Light, Warm White และ Cool White ซึ่งหลอดไฟแต่ละสีก็จะให้ความรู้สึกแตกต่างกันไป ดังนี้

- Day Light ให้แสงไม่มีสีคล้ายแสงธรรมชาติในเวลากลางวัน
- Warm White ให้แสงที่เป็นสีเหลืองนวล ช่วยสร้างบรรยากาศให้ดูอบอุ่น
- Cool White ให้แสงที่เป็นสีฟ้าขาว ดูเย็นตา แต่จะทำให้สีจริงของวัตถุผิดเพี้ยนไป

ดังนั้นก่อนเลือกซื้อหลอดไฟมาใช้ จึงควรอ่านฉลากที่ข้างกล่อง เพื่อให้ได้แสงไฟที่ตรงกับลักษณะการใช้งาน และช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับห้องต่างๆภายในบ้าน

 

15. Q: การตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆภายในบ้านด้วยตนเองควรทำอย่างไร

A: เริ่มด้วยการทดสอบมิเตอร์ไฟก่อน โดยปิดสวิตช์ไฟฟ้าทุกจุด รวมทั้งถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆออกให้หมด แล้วไปดูมิเตอร์ไฟที่หน้าบ้านว่าเฟืองเหล็กยังหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่แสดงว่ามีกระแสไฟรั่ว จากนั้นให้ดูเมนสวิตช์ว่ามีมดหรือแมลงเข้าไปทำรังในตู้หรือเปล่า คัตเอ๊าต์หรือเบรกเกอร์ยังสามารถใช้ปลดวงจรไฟฟ้าได้หรือไม่ ส่วนสายไฟและเต้ารับให้ดูว่ามีส่วนใดชำรุดเสียหายบ้าง โดยเฉพาะสายไฟที่ซ่อนอยู่บนฝ้าเพดาน อาจเปื่อยกรอบเนื่องจากผ่านการใช้งานมานาน หรือถูกพวกหนูและแมลงสาบกัดแทะจนสายขาด ถ้าพบความเสียหายก็ต้องเปลี่ยนใหม่เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

 

16. Q: หลอดตะเกียบประหยัดไฟกว่าหลอดไส้กี่เท่า

A: หลอดตะเกียบในที่นี้หมายถึง หลอดฟูลออเรสเซนต์ขนาดเล็กที่มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน โดยใช้แทนหลอดไส้ได้ มีอายุการใช้งานมากกว่าหลอดไส้ประมาณ 6-8 เท่า และใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า โดยจะช่วยประหยัดไฟได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่อายุการใช้งานของหลอดก็ขึ้นอยู่กับสภาพการติดตั้ง เช่น การระบายความร้อนเป็นอย่างไร แรงดันไฟฟ้าสม่ำเสมอดีหรือไม่

*ตารางเปรียบเทียบการให้แสงสว่างของหลอดตะเกียบกับหลอดไส้ธรรมดาที่ให้แสงสว่างเท่ากัน
หลอดตะเกียบ หลอดไส้ธรรมดา

9 W 40 W
13 W 60 W
18 W 75 W
25 W 100 W

การ เลือกซื้อหลอดประหยัดไฟให้คุ้มค่า ให้สังเกตปริมาณการส่องสว่าง(ลูเมนต่อวัตต์) ที่ข้างกล่องบรรจุ เนื่องจากหลอดไฟในแต่ละรุ่นจะมีค่าไม่เท่ากัน ส่งผลให้ราคาแตกต่างกัน โดยให้เลือกรุ่นที่มีประสิทธิภาพพลังงานในการส่องสว่างสูงไว้ก่อนนะครับ

 

17. Q: เครื่องมือและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ควรมีไว้ติดบ้าน...มีอะไรบ้าง

A: ค้อนช่างไฟ ใช้ตอกตะปู สำหรับการเดินสายแบบรัดคลิป หรือติดตั้งกล่องต่อสายต่างๆ
คีมตัด ใช้สำหรับตัดสายและตกแต่งปลายท่อร้อยสายไฟที่ขรุขระให้เรียบร้อย

คีมปอกสายไฟ ใช้งานได้ทั้งปอกสายและตัดสายไฟ
คีมปากจิ้งจก ใช้จับยึดชิ้นงานที่มีขนาดเล็กหรืออยู่ในที่แคบ
ไขควงวัดไฟ ใช้ทดสอบวงจรไฟฟ้า
ตลับเมตร ใช้วัดระยะในกรณีที่มีการเดินสายหรือติดตั้งสวิตช์และเต้ารับ
เทปพันสายไฟ ใช้พันรอยต่อของสายไฟ

เครื่อง มือและอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องมีติดบ้านไว้ทุกชิ้น อาจดูจากความถนัดหรือความคล่องตัวในการใช้งานน่าจะเหมาะสมกว่า แล้วอย่าลืมกฎสำคัญในการทำงานไฟฟ้าคือ ต้องถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือปลดเมนสวิตช์ทุกครั้ง ในบริเวณที่เราจะทำงานด้วย

 

18. Q : ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศมาล้างด้วยหรือ

A: การดูแลเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยให้เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าไฟและส่งผลดีต่อสุขภาพของเราอีกด้วย การทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศครั้งใหญ่ควรทำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ทั้งคอยล์เย็นและคอยล์ร้อน หรือชุดระบายความร้อนที่ตั้งอยู่ภายในห้อง โดยช่างผู้ชำนาญเพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานยิ่งขึ้น แต่ภายหลังการล้างเครื่อง บ่อยครั้งมักเกิดน้ำหยดหรือรั่วออกมาจากแผงคอยล์เย็น เพราะช่างอาจหลงลืมการทำความสะอาดท่อน้ำทิ้ง ทำให้เกิดน้ำรั่วหรือเกิดเสียงจากการสั่นของเครื่องได้ เนื่องมาจากการประกอบชิ้นส่วนไม่ดี ดังนั้นจึงควรตรวจเช็คในจุดต่างๆให้แน่ใจก่อนช่างจะจากไปนะครับ

 

19. Q: ทิ้งหลอดไฟเป็นภัยกับสิ่งแวดล้อมไหม

A: เป็นภัยต่อชีวิตและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน เพราะหลอดไฟเป็นขยะที่ไม่ย่อยสลายและเผาไม่ได้ (เผาแล้วก่อให้เกิดมลพิษ) ต้องผ่านกระบวนการกำจัดหลอดไฟอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ไปทำลายสิ่งแวดล้อมและชั้นบรรยากาศของโลก โดยจำเป็นต้องจัดการคัดแยกหลอดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆออกจากขยะในครัวเรือน ประเภทอื่น โดยต้องห่อกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกล่องที่ใส่มาตอนซื้อ และเขียนกำกับไว้ด้วยว่าเป็น "หลอดไฟ"(เจ้าหน้าที่จัดเก็บจะได้เห็นและใช้ความระมัดระวังมากขึ้น) ตอนนี้มีบางบริษัทมีโครงการรีไซเคิลหลอดไฟ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีมากต่อสภาพแวดล้อม แต่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควรครับ

 

20. Q: เมื่อเกิดเพลิงไหม้จากไฟฟ้าต้องทำอย่างไรและใช้อะไรดับ

A: หากพบประกายไฟที่จะก่อให้เกิดอัคคีภัย ให้เตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อม การดับเพลิงที่เกิดจากไฟฟ้า ต้องใช้ถังดับเพลิงที่ใช้ดับไฟที่เกิดจากไฟฟ้าโดยเฉพาะเท่านั้น อย่าใช้น้ำดับไฟเป็นอันขาด เพราะน้ำเป็นสื่อไฟฟ้า (ยกเว้นในกรณีที่ปลดวงจรไฟฟ้าแล้วสามารถใช้น้ำดับได้) ถังดับเพลิงที่ใช้ดับเพลิงไหม้จากไฟฟ้าจะมีเครื่องหมายระบุว่าใช้ดับไฟได้ สังเกตที่ข้างถังจะระบุเป็นตัวอักษร "C" (ชนิด Aใช้ดับเพลิงพวกไม้และกระดาษ,ชนิด B ใช้กับไฟที่เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ)




แหล่งข้อมูล http://www.endcenter.com

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://9engineer.com/)