คุณควรทำตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูก 'ฟ้าผ่า' ?
โดย : Admin

     บัญชา ธนบุญสมบัติ 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

 

 



ในช่วงเวลาที่มีฝนฟ้าคะนอง ไม่ว่าจะเป็นช่วงหน้าร้อนซึ่งมี พายุฤดูร้อน หรือหน้าฝนซึ่งมีฝนตกชุก สิ่งที่น่ากลัวซึ่งมาพร้อมกับฝนฟ้าคะนองก็คือ ฟ้าผ่า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราควรจะเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับฟ้าผ่าและการทำตัวให้ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกฟ้าผ่า

 

 

      แม้ว่าคุณจะไม่ได้ไปแตะต้องกับอะไรก็ตามที่ถูกฟ้าผ่าโดยตรง ถ้าคุณอยู่ใกล้สิ่งนั้นเกินไป หรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม คุณก็อาจเป็นอันตรายได้อีกเช่นกัน!

 

 

เปิดโปงความจริงเกี่ยวกับฟ้าผ่า

  ฟ้าผ่าเกิดจากการที่ประจุไฟฟ้าวิ่งจากก้อนเมฆลงมาที่พื้นดิน (หรือกลับกันก็ได้) ประจุไฟฟ้าอาจจะวิ่งอยู่ในก้อนเมฆ หรือวิ่งจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่งที่เรียกว่า ฟ้าแลบ
แต่เป็นไปได้อีกเหมือนกันที่ประจุไฟฟ้าอาจวิ่งจากก้อนเมฆตรงดิ่งไปยังปีกของเครื่องบินที่คุณนั่งอยู่ (ในกรณีนี้ก็สวดมนต์กันเองว่าอย่าให้เครื่องยนต์มีอันเป็นไปนะครับ)

     

           เราลองมาดูกรณีที่ฟ้าผ่าจากเมฆสู่พื้นกันดีกว่า เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ หลักการสำคัญมีอยู่ว่า สายฟ้ามักจะฟาดเปรี้ยงลงมายังจุดที่สูงที่สุดในบริเวณหนึ่ง ๆ  ความจริงสายฟ้ามีโอกาสที่จะจะฟาดลงไปยังจุดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จุดที่สูงที่สุดด้วยเช่นกัน แต่ยิ่งสูง โอกาสถูกหวยก็ยิ่งมาก



ฟ้าผ่าต้นไม้สูงเนื่องจากอยู่โดดเด่นในบริเวณที่โล่ง
 


ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ จุดที่สายฟ้าฟาดนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นโลหะหรือตัวนำไฟฟ้าชั้นดีก็ได้  ฟ้าผ่ายอดต้นไม้สูงก็มีถมไป ในกลางทุ่งโล่งซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ไม่กี่ต้น สายฟ้ามักจะผ่าลงไปที่ต้นไม้ใหญ่ที่สูงที่สุด หรือในที่ ๆ มีบ้านเรือนอยู่ ฟ้าก็มักจะผ่าจุดที่สูงที่สุดของบ้าน ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้วิศวกรก็ติดตั้งสายล่อฟ้าในส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร

แต่เรื่องที่น่าฉงนและต้องรู้เอาไว้ก็คือ แม้ว่าสายฟ้าจะไม่ฟาดถูกตัวคุณจัง ๆ มันก็สามารถทำอันตรายคุณได้!  เอ๊ะ! ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
 

สมมติว่าคุณหลบอยู่ใต้ต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่า แล้วเผลอไปแตะต้องส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ ก็แน่นอนว่าไฟฟ้าจะวิ่งเข้าตัวคุณ คล้าย ๆ กับตอนที่คุณถูกตู้เย็นหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าดูดนั่นล่ะครับ เรื่องนี้ตรงไปตรงมา

แต่ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ไปแตะต้องกับอะไรก็ตามที่ถูกฟ้าผ่าโดยตรง ถ้าคุณอยู่ใกล้สิ่งนั้นเกินไป หรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม คุณก็อาจเป็นอันตรายได้อีกเช่นกัน! อันตรายจากฟ้าผ่าแบบนี้มี 2 ลักษณะดังนี้
   


กรณีที่ 1 - Side Flash
 : 

  กระแสไฟฟ้าที่วิ่งลงมาตามลำต้นของต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่าอาจจะเปลี่ยนใจกระโดดเข้าหาคุณ ดังนั้นจึงไม่เหมาะแน่ถ้าคุณคิดจะยืนหลบฝนฟ้าคะนองอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือโครงสร้างอื่น ๆ เช่น ศาลากลางสวนที่ตั้งอยู่โทนโท่โดยไม่มีสายล่อฟ้า ลักษณะนี้นักวิชาการจะบอกว่า อันตรายเกิดจาก ไซด์แฟลช (side flash) ซึ่งผมขอแปลหลวม ๆ ว่า ‘ไฟฟ้าแลบจากด้านข้าง’ ก็แล้วกัน

Side Flash - แม้ชายหนุ่มเคราะห์ร้ายจะไม่ได้แตะส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่าโดยตรงเลยก็ตาม แต่กระแสไฟฟ้าก็อาจจะกระโดดเข้าจู่โจมเขาจากด้านข้างได้

 

กรณีที่ 2 - Step Voltage : ในกรณีที่เจ้าวัวยืนอยู่ใกล้ ๆ ต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่านั้น ไฟฟ้าที่วิ่งลงมาตามต้นจะไหลออกสู่พื้นดินโดยรอบในแนวรัศมี ดังนั้น ไฟฟ้าที่ไหลมาตามพื้นก็จะวิ่งเข้าทาง 2 ขาหน้าของวัว ผ่านลำตัว และออกไปทาง 2 ขาหลัง ครบวงจรพอดี!

สัตว์ที่อยู่ในทุ่งโล่งนั้นตายเพราะสาเหตุนี้มานักต่อนักแล้ว (ไม่ได้ตายเพราะ กระดิ่งผูกคอโลหะเป็นตัวล่อสายฟ้า อย่างที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ในบ้านเรานี่แหละ)  สำหรับลักษณะนี้เรียกว่า อันตรายเกิดจาก ความต่างศักย์ต่างกันในแต่ละจุด (step voltage) หรือ กระแสที่ไหลมาตามพื้น (ground current) ก็ได้

 

Step Voltage - วัวเคราะห์ร้ายอาจถูกไฟฟ้าทำอันตรายได้ แม้ว่าจะไม่ได้ถูกฟ้าผ่าโดยตรงก็ตาม
(ภาพจากหนังสือ The Flying Circus of Physics with Answers เขียนโดย Jearl Walker หน้า 164)

 

คุณควรทำตัวอย่างไร ในสภาวการณ์ที่อาจเกิดฟ้าผ่า?

ถ้าคุณอยู่ในที่โล่ง และหาที่หลบได้ : 

  • รีบหาที่หลบที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ หรือรถยนต์ที่ปิดกระจกมิดชิด แต่อย่าอยู่ใกล้ผนังอาคาร และอย่าแตะตัวถังรถ เป็นอันขาด

  • ที่สำคัญ อย่ายืนหลบใต้ต้นไม้สูงเป็นอันขาด (ยกเว้นว่าคุณอยากรู้ว่า “ไซด์แฟลช” นั้นเป็นยังไง!)

ถ้าคุณอยู่ในที่โล่ง และหาที่หลบไม่ได้ : 

  • ให้ “หมอบนั่งยอง ๆ เท้าชิดกัน” หมอบนั่งเพื่อให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด ส่วนเท้าชิดก็เพื่อลดพื้นที่สัมผัสพื้นให้น้อยเข้าไว้ ดังภาพซ้ายมือ (สังเกตว่า คนในภาพเขย่งปลายเท้าด้วย เพื่อให้พื้นที่สัมผัสน้อยที่สุด)  แต่ถ้าทนเมื่อยไม่ไหว ก็ลองภาพขวามือก็ได้ 

 

  • ที่สำคัญคือ อย่านอนหมอบกับพื้น เพราะท่านอนทำให้คุณมีจุดสัมผัสพื้นหลายจุด (ลองทำดูจะเข้าใจ) ซึ่งหากเกิดฟ้าผ่าลงมาใกล้ๆ คุณ กระแสไฟฟ้าอาจจะวิ่งมาตามพื้น เข้าทางจุดหนึ่ง แล้วออกอีกจุดหนึ่ง แต่ระหว่างทางอาจเลี้ยวแวะเข้าสู่หัวใจ หรือไขสันหลังของคุณได้นะ ...จะบอกให้! ;-P

ถ้าคุณอยู่ในบ้านหรืออาคาร : 

  • ให้อยู่ห่าง ๆ ประตูและหน้าต่าง แล้วถอดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นออกให้หมด  อย่าลืมดึงสายอากาศของโทรทัศน์ออกด้วย เพราะสายฟ้าอาจผ่าลงที่เสาอากาศบนหลังคาบ้าน แล้ววิ่งเข้าสู่โทรทัศน์ของคุณได้


ขณะอยู่ในบ้าน อย่าใช้โทรศัพท์ (เพราะสายโทรศัพท์เป็นตัวนำไฟฟ้าอย่างดี) อย่าเพิ่งอาบน้ำ และปิดแอร์ให้เรียบร้อย

ถ้าคุณอยู่ในรถ :

  • ให้ปิดประตูและหน้าต่างรถให้สนิท อย่าแตะต้องกับส่วนที่สัมผัสกับตัวถังรถ

 

เมื่อเพื่อนๆ ชาว GotoKnow เข้าใจพื้นฐานของฟ้าผ่าและวิธีลดความเสี่ยงจากการที่จะถูกฟ้าผ่าแล้ว ก็คงจะทำตัวได้อย่างถูกต้อง และอย่าลืมส่งต่อความรู้-ความเข้าใจนี้ไปให้คนรอบข้างด้วยนะครับ

 

ที่เล่าให้ฟังไปทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องจริง...สาบานได้.....ถ้าไม่จริง ขอให้ฟ้าผ่าบ้านเจ้าพ่อยาบ้าสิเอ้า!

  

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://9engineer.com/)